ประวัติความเป็นมาวัดคลองปูน

     ชื่อวัดโดยทางราชการ “วัดคลองปูน” ชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดคลองปูน สังกัดมหานิกาย อยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ตำบลปากน้ำกระแส-คลองปูน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภาค ๑๓

     วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่หาหลักฐานไม่พบว่าสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องก่อน พ.ศ. ๒๔๓๗ เพราะมีหลักฐานอยู่ที่ระฆังเก่าแก่ของวัด จารึกว่า “ระฆังนี้สร้างแต่ ปีมะเมีย ฉอศก พระพุทธศักราชได้ ๒๔๓๗ พรรษา จุลศักราช ๑๒๕๖ ปี ขอจงสำเร็จแก่ความ ปรารถนา เทอญ.” และในรายงานตรวจการศึกษามณฑลจันทบุรี ของพระสุคุณคณาภรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ มีชื่อวัดคลองปูนอยู่แล้ว เดิมตั้งอยู่ที่หมู่บ้านซึ่งปัจจุบันนี้ชาวบ้านเรียก สถานที่นั้นว่า “คลองโบสถ์” อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ตั้งวัดปัจจุบัน ที่เรียกว่า “คลองโบสถ์” เพราะวัดที่ตั้งอยู่ริมคลองและสร้างโบสถ์อยู่ในน้ำ (อุทกุกเขปสีมา)

     ต่อมาได้ย้ายมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากที่ตั้งวัดเดิมประมาณ ๔ กิโลเมตร อยู่ริมคลองชื่อว่า คลองหนองนาซา หมู่บ้านแถบนี้ปัจจุบันเรียกว่า “ บ้านเก่า” และได้ย้าย อีกครั้งหนึ่งมาสร้างใหม่ ณ สถานที่ปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ตามพระบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา ดังต่อไปนี้

     มีพระบรมราชโองการ ประกาศไว้แก่ชนทั้งปวงว่า ที่เขตพระอุโบสถวัดคลองปูน ตำบลคลองปูน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยยาว ๓ เส้น กว้าง ๒ เส้น ๑๐ วา พระครูสมุทสมานคุณ เจ้าคณะจังหวัดระยอง ได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอเป็นที่ วิสุงคามสีมา พระเจ้าแผ่นดินสยาม ได้ทรงยินดีอนุโมทนาอนุญาตแล้ว โปรดให้กรมการ ปักกำหนดให้ตามประสงค์ ทรงพระราชอุทิศที่นั้นให้เป็นที่วิสุงคามสีมา ยกเป็นแผนกหนึ่ง ต่างหากจากพระราชอาณาเขต เป็นที่วิเศษสำหรับพระสงฆ์มาแต่จาตุทิศทั้งสี่ ทำสังฆกรรม มีอุโบสถกรรม เป็นต้น

     พระราชทานตั้งแต่ ณ วันที่ ๔ สิหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๔๑ พระพุทธศาสนกาล ๒๔๖๕ พรรษา เป็นวันที่ ..............(ต้นฉบับเลอะเลือน) ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ฯ

      ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕


การย้ายที่ตั้งวัด

     การย้ายวัดมาตั้ง ณ สถานที่ปัจจุบัน ได้รับคำบอกเล่าจาก นายนาด ไชโย อายุ ๙๔ ปี ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๘ ขณะนั้น นายนาดมีอายุ ๑๕ ปี เป็นเด็กวัด อาศัยเรียนหนังสือ อยู่กับพระสงฆ์ มีพระอธิการหนู ปรุงแต่งกิจ เป็นเจ้าอาวาส อยู่ที่วัดคลองปูนเก่า มีพระเริ่ม วิสมล เป็นพระลูกวัด ได้ปรึกษาหารือกันว่า วัดซึ่งตั้งอยู่ริมคลองการสัญจรไปมาสมัยนั้น ใช้เรือ ต่อมาการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น ประชาชนไม่นิยมใช้เรือ สถานที่ตั้งวัดและหมู่บ้าน เป็นที่ลุ่ม หน้าฝนไม่สะดวกในการสัญจรไปมา ชาวบ้านส่วนมากจึงย้ายบ้านไปตั้งอยู่แถบ ชายเนิน ห่างจากที่ตั้งวัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ระหว่าง กลางสถานที่เคยตั้งวัดทั้งสองแห่ง เมื่อชาวบ้านย้ายออกไปมากขึ้น ผู้อุปถัมภ์บำรุงวัดก็น้อยลง ควรที่จะย้ายวัดตามชาวบ้านไปด้วย จึงประชุมชาวบ้านขึ้น และมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า ควร ย้ายวัดไปใกล้หมู่บ้าน จากนั้นจึงช่วยกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ไปสร้างใหม่ในสถานที่ ปัจจุบันฯ